วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555



ประวัติวันวิทยาศาสตร์ไทย

        รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติเนื่องจากวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 มะโรง สัมฤทธิศกจุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตรงเกาะจานขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึง จ.ชุมพร จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์
           
ผลการคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม่นยำมาก เซอร์แฮรี ออด บันทึกเหตุการณ์ไว้ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2518 ว่า "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้"
   
         ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 งานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับการขยายให้เป็นงานใหญ่ขึ้น เป็นงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยจะมีการจัดงานในระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม
              พระราชกรณียกิจทางด้านดาราศาสตร์ของรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างหอดูดาวบนเขาวัง ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ พระราชทานนามว่าหอชัชวาลเวียงชัย ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้เคยทอดพระเนตรดาวหาง 3 ดวงคือ

               ดาวหางฟลูเกอร์กูส (Flaugergues s Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่และมีหาง 2 หาง ปรากฏในรัชสมัย พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2355 ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกฏมีพระชันษาราว 8 ปี เมื่อทรงเห็นแล้ว คงจะทรงติดตามศึกษาเรื่องดาวหางอยู่เสมอ เพราะว่าก่อนดวงที่ 2 จะมาปรากฏ พระองค์สามารถทรงนิพนธ์ประกาศฉบับแรกชื่อว่า ” ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” แจ้งแก่ประชาชน”
               ดาวหางโดนาติ ( Donati a Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก นักดาราศาสตร์อิตาเลียนค้นพบในคืนวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ 2401 และคืนต่อๆมา จนถึงวันที่ 4มีนาคม พ.ศ. 2402 (รวมเวลา ๙ เดือน) ชาวไทยคงจะเห็นด้วยตาเปล่า ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2401 ดาวหางดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงามอยู่ราว 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า เมื่อประชาชนเห็นดาวหางโดนาติ แล้วจะตื่นเต้นไปตามคำลือต่างๆ จึงทรงออกประกาศเตือนชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” นับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ มีความว่า “ดาวหางนี้ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวหางนี้มีคติแลทางยาวไปในท้องฟ้า แล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศทั้งนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่างๆ ด้วยว่ามิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้ และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิ ได้ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมืองทั่วพิภพอย่างนี้แล”
               ดาวหางเทพบุท (Tebbut s Comet ) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ หางยาว และสว่างกว่าดาวหางโดนาติ ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม พ.ศ. 2404 เป็นดาวที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้น ถึงกับทรงได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่า จะปรากฏเมื่อใด และได้ทรงออกประกาศไว้ล่วงหน้า มิให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งนี้เพราะพระองค์ มีพระราชประสงค์มุ่งขจัดความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และทรงให้ราษฎรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ (ถ้าจะเกิด) อย่างมีเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์

                               ภาพถ่ายขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ เมื่อปี พ.ศ. 2411

วันแม่แห่งชาติ


ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติ
        ชาวอเมริกันเป็นผู้กำหนดให้มีวันแม่อย่างเป็นทางการขึ้น และผู้ที่พยายามเรียกร้องให้มีวันแม่ในอเมริกา คือ แอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟีย แต่กว่าเธอจะประสบความสำเร็จก็ครบ 2 ปีพอดีในปี พ.ศ.2457 โดยประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และดอกไม้สำหรับวันแม่ของชาวอเมริกันก็คือดอกคาร์เนชั่น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือถ้าแม่ยังมีชีวิตอยู่ให้ประดับตกแต่งบ้าน หรือประตูด้วยดอกคาร์เนชั่นสีชมพู แต่ถ้าแม่ถึงแก่กรรมไปแล้วให้ประดับด้วยดอกคาร์เนชั่นสีขาว 
ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย 
     วันแม่แห่งชาติ งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีงานวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
     ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่
ดอกมะลิดอกไม้ประจำวันแม่
ชื่อ :
มะลิ มะลิลา มะลิหลวง มะลิซ้อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อพฤกษศาสตร์ :

Jusminum adenophyllum.
วงศ์ :
OLEACEAE
ลักษณะทั่วไป :
เป็น พรรณไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบๆ ลำต้นสูงประมาณ 5 ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยวแตกออกเป็นคู่ ไปตามก้านต้นลักษณะใบป้อมมน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบไม่มีจัก ผิวใบเรียบสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบยาว 2-3 นิ้ว มีดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นช่อตามปลายยอดหรือปลายกิ่งประมาณ 3-5 ดอก แล้วแต่ชนิดพันธุ์ ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ออกดอกตลอดปี
การขยายพันธุ์ :
เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง ต้องการน้ำปานกลาง ปลูกในดินร่วนซุย ขยายพันธุ์โดยการปักชำ หรือตอนกิ่ง
สรรพคุณทางยา :
มะลินอกจากจะมีกลิ่นหอมไว้ดมแล้ว มะลิดอกแห้งใช้ปรุงเครื่องยาหอมใช้บำรุงหัวใจได้เป็นอย่างดี




วันอาสาฬหบูชา


















"อาสาฬหบูชา"
 ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปุรณมีบูชา"
แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬห คือ เดือน 8


          วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดง พระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๒ เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์

          การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ
 ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า 

          ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ                   สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
          สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา       สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
          เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก
          คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า
          ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
          การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่
          ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
          สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
          ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
          หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ
          ๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ
          ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
          ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
          ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
          ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
          ๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
          ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
          ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
          พระพุทธองค์ทรงประกาศถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง สิ่งนั้นก็คือ อริยสัจ มี ๔ ประการ คือ
          ๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเดือดร้อนใจ ทุกข์เพราะเกิด - ดับ ความไม่สมหวัง ความพรัดพรากจากคนรัก สิ่งของที่รัก และชอบใจ และทุกข์อันเนื่องมาจากขันธ์ ๕
          ๒. สมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งได้แก่ตัณหา ๓ อย่าง ได้แก่
                ๒.๑ กามตัณหา ความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ น่าชอบใจ
                ๒.๒ ภวตัณหา ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
                ๒.๓ วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่
          ๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ กำจัดกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป จิตสงบจากกิเลสและนิวรณ์
          ๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, มรรคนี้ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
          และเมื่อกล่าวโดยย่อก็ได้แก่สิกขา ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
          การที่จะเรียกว่าตรัสรู้อริยสัจนั้น ต้องเป็นความรู้ที่มีวนรอบคือ รู้ ๓ ชั้น ด้วยพระญาณทั้ง ๓ คือ
          ๑. สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
          ๒. กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
          ๓. กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว
          ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
          นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้ และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว
          นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว
          นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว
          นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ และพระองค์ ได้เจริญแล้ว
          สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 มีรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
          พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว
          เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
          วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือ
          ๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
          ๒. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
          ๓. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
          ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุได้แก่พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในวันวิสาขบูชา การแสดงธรรมในวันนี้จะเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
          วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยศึกษา พระธรรมวินัยอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงทางแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นต่อไปชั่วกาลนาน